04 ตุลาคม 2554

วิวาทะวงการนิติศาสตร์

การให้ลบล้างผลพวงของรัฐ ประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะนิติราษฎร์ 7 คน ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักวิชาการและสื่อมวลชน คณาจารย์นิติศาสตร์ 23 คน ออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่ประกอบขึ้นจากตรรกะวิธีคิด ที่ก่อให้เกิดผลประหลาด และสงสัยว่า  ทำไมจึงไม่ลบล้างรัฐประหารทุกครั้ง? ทำไมเจาะจงรัฐประหาร 2549

แถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ ทำให้เกิดความตื่นเต้นฮือฮาทั้งในวงการนักนิติศาสตร์และวงการสื่อมวลชน เพราะประกาศว่าจะ “ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร” 19 กันยายน 2549 ให้ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จริงๆแล้วให้ลบล้างแค่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เพียงบางมาตรา และคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำ พิพากษาศาลฎีกาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กลุ่มนิติราษฎร์ให้ลบล้างหรือให้เสียเปล่า เน้นเป็นพิเศษเฉพาะคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา อันสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบของ คตส. ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คำพิพากษา ชัดเจนที่สุดคือเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ระบุว่า ถ้ากลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐประหารเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ ถึงขนาดจะต้องลบล้างการกระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ทำไมจึงไม่ลบล้างรัฐประหารทุกครั้ง ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงรัฐประหารคณะ รสช. กุมภาพันธ์ 2534 และทำไมไม่ลบล้างผลการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง ที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 2549

จากการติดตามความคิดเห็นคนบางกลุ่ม มีหลายคนมองว่ารัฐประหาร 19 กันยายน เป็นรัฐประหารที่เลวร้ายที่สุด เพราะทำลายหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักประชาธิปไตย และก่อความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วยการปฏิบัติสองมาตรฐาน ทั้งๆที่การทำลายหลักนิติธรรมและการปฏิบัติสองมาตรฐาน ได้เป็นมาช้านานนับหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์ไทย

แต่ถ้ามองโลกในแง่ ดี ก็อาจมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการออกมาต่อต้านรัฐประหารของนักวิชาการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ถึงแม้จะเคยมีรัฐประหารกว่าสิบครั้ง แต่ไม่เคยมีประชาชนออกมาต่อต้าน เคยมีกลุ่ม ส.ส.หนุ่ม 3 คน นำโดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ยื่นฟ้องคณะรัฐประหาร 2514 ในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาล แต่ถูกจับเข้าคุกทั้งสามคน

แม้ แต่รัฐประหารครั้งล่าสุด 2549 ก็ไม่มีใครออกมาต่อต้าน ตรงกันข้าม กลับมีบางคนไปมอบดอกไม้ให้ทหาร มีเพียงคนขับแท็กซี่คนเดียวที่ประท้วง ด้วยการขับแท็กซี่ชนรถถัง นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ก็ไม่ได้ออกมาคัดค้าน แม้แต่กลุ่ม นปช.ก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร หลังจากที่คณะรัฐประหารวางมือวางอำนาจไปแล้ว เข้าลักษณะ “วีรบุรุษหลังสงคราม”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น