01 กรกฎาคม 2553

"ไฟใต้" ในมุมมองแพทย์

โดย สันต์ หัตถีรัตน์ มติชนรายวัน วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9519


"ไฟใต้" ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่วงการแพทย์

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ไม่กล้าสวมเครื่องแบบในการปฏิบัติงานคนเดียว สถานีอนามัยหลายแห่งต้องเปิดบริการเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชนต้องยุติลง

ในจังหวัดยะลา ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขขอย้ายอกจากพื้นที่อย่างน้อย 64 คน แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งขอลาออกพร้อมๆ กันหลายคน จนเหลือแพทย์เพียง 1 คน ในโรงพยาบาลเหล่านั้น ซึ่งคงจะรับงานหนักที่เพิ่มขึ้นได้อีกไม่นาน และยังไม่มีวี่แววว่าจะมีแพทย์(แม้แต่แพทย์จบใหม่ที่จะถูกบังคับให้ออกไปใช้ทุน) สมัครไปอยู่ที่โรงพยาบาลเหล่านั้น

และถ้าถูกบังคับให้ไป ก็คงจะลาออกกันเป็นทิวแถว

 ผู้เขียนในฐานะแพทย์นอกแดนใต้ก็เห็นว่า

การแก้ปัญหา "ไฟใต้" ของรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังมะงุมมะงาหรา มุ่งใช้แต่ความรุนแรงและโวหารแดกดัน ที่มีแต่จะเพิ่มความเจ็บแค้น และทำให้ปัญหาบานปลายออกไป แล้วยังคิดจะใช้ "เงิน" (28,000 ล้านบาท) "ฟาดหัว" คนใต้ ซึ่งคงไม่ง่ายเหมือนการ "ซื้อ" ส.ส./ส.ว. และพวกประจบสอพลอต่างๆ

วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่วัฒนธรรมมะกันที่เงินจะซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่มโนธรรม นอกจากนั้นเมื่อ "เงิน" ไปถึงที่ใด มักจะทำให้เกิดการแตกแยกและการทุจริตประพฤติมิชอบขึ้นที่นั่นเสมอ

รัฐบาลที่ชอบใช้ "เงิน" ในการสร้างประชานิยมให้แก่ตนเอง จึงก่อให้เกิดความแตกแยกและการทุจริตประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวางและอย่างมหาศาล

ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า "ในฐานะที่ถวายงานมากว่า 20 ปี ไม่เคยได้ยินพระราชกระแสรับสั่งครั้งใดจะรุนแรงเท่ากับครั้งนี้ เมื่อทรงรับสั่งถึงปัญหาการทุจริตว่า

ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคายแต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต คือสุจริต และมีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง 100 ปี ใครมีอายุมากอยู่แล้วก็ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย ภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยึดความสุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง"

"ไฟใต้" ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนโดดๆ ยังมีความไม่เป็นธรรมที่คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้รับจากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐมายาวนาน โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันที่ตามกัน "มะกัน" ก่อ "สงครามศาสนา" ขึ้น เช่น

การจับกุมแพทย์และครูสอนศาสนาที่ชาวบ้านนับถือ คือนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ นายมัจสุรุหะยี อับดุลเลาะห์ นายมุญาฮิต หะยีอับดุลเลาะห์ และนายสมาน แวกะจี โดยกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ซ่องโจรเตรียมก่อการร้าย ในกลุ่มเจมาห์ อิสลามมิยาห์(เจไอ) ต่อต้านสหรัฐและพันธมิตรที่ก่อสงครามถล่มอิรักใน พ.ศ.2546

การประกาศกฎอัยการศึก การจับกุมครูสอนศาสนาอิสลาม การรื้อค้นมัสยิด โรงเรียนสอนศาสนาและบ้านเรือนของคนไทยมุสลิม อย่างก้าวร้าวหยาบคาย และไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวมุสลิม

การ "อุ้มหาย" คนไทยมุสลิมหลายสิบคน รวมทั้งทนายความ นายสมชาย นีละไพจิตร ที่ว่าความให้แก่ชาวไทยมุสลิมที่ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมใน พ.ศ.2547

"ไฟใต้" จึงลุกลามบานปลายออกไป จน "มูดี้ส์" ที่ออกมาชื่นชมการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยยังกังวลว่า "ไฟใต้" อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศได้

การแก้ปัญหา "ไฟใต้" จึงไม่ใช่การแก้ด้วยการใช้ความรุนแรง การใช้กฎอัยการศึกอย่างมุทะลุดุดัน การ "อุ้มหาย" การจับกุมคุมขัง และการเชือดเฉือนด้วยวาจา ประสา "ปากไว" ตั้งแต่ระดับสูงลงมา เป็นต้น

"ไฟใต้" จะสงบลงถ้ารัฐบาลจะใช้ "สันติวิธี" ในการแก้ปัญหา เช่น

1.ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวบ้านคุมสถานการณ์ได้แล้ว

2.ยกเลิกการ "อุ้มหาย" และการใช้ "อำนาจเป็นธรรม" ของเจ้าหน้าที่ต่างๆ และดำเนินการสืบสวนสอบสวนนำเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตมาลงโทษ เพื่อบรรเทาความเจ็บแค้นของชาวบ้านลง

3.โยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นออก และหาผู้ที่คุ้นเคยและยินดีจะปฏิบัติงานในท้องถิ่นเหล่านั้นลงไปแทน โดยตอบแทนความเสียสละ ความเสี่ยงตามสมควร และให้การสนับสนุนเต็มที่

4.ขจัดอิทธิพลท้องถิ่น(ทั้งมีสีและไม่มีสี) เพื่อลดปริมาณการก่อกวนผสมโรง เพื่อมุ่งหวังลาภยศและผลประโยชน์ทั้งในที่ลับและที่แจ้งที่มีมาช้านาน

5.เลิกตามก้น "มะกัน" ก่อ "สงครามศาสนา" เสียเถิด

6.อย่าเอาเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ ไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัทบริวารของรัฐบาลในนาม "งบประมาณฟื้นฟูภาคใต้" เหมือนที่เคยทำในการแก้สัมปทานโทรคมนาคม การแปรรูป "ปตท." เป็นต้น

"เงิน" ไม่สามารถซื้อความสงบสุขได้ ถ้าใช้ด้วยเจตนาทุจริต คิดหาเสียง เลี่ยงบาลีและไม่มีความจริงใจและความสุขุมรอบคอบในการใช้เงินนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น