ไม่มีใครต้องแปลกใจกับปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” ของสังคมไทยที่ยิ่งวันยิ่งจะน่าเกลียดน่ากลัวมากขึ้น
คำถามก็คือเมื่อไหร่ที่เราจะหยุดใช้ “ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” ในสังคมไทยเป็นเครื่องมือหาเสียง ประเด็นจัดสัมมนา และทำวิจัย แทนที่จะลงมือแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียที?
เมื่อวานนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” เปิดกรุรัฐมนตรี “รวยที่ดิน” พบว่ามีรัฐมนตรีอย่างน้อย 40 คนที่ถือครองที่ดินเกินคนละ 100 ไร่
ขณะที่ประชาชนร้อยละ 90 มีที่ดินของตัวเองไม่ถึงหนึ่งไร่ต่อคน
การสำรวจของ “กรุงเทพธุรกิจ” พบสถานการณ์เช่นนี้ย้อนไปตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ เรื่อยมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน และขอเรียนว่าเป็นตัวเลขเฉพาะที่นักการเมืองแจ้งในฐานะที่ใช้ชื่อตัวเองถือครองและที่กฎหมายบังคับต้องให้แจ้งกับ ป.ป.ช.เท่านั้น
หากเอา “เรื่องจริง” มาเปิดเผยกันอย่างเป็นระบบแล้วไซร้ ภาพของความ “เหลื่อมล้ำ” ของสังคมไทยก็จะยิ่งน่าเกลียดน่ากลัวกว่านี้หลายเท่านัก
เพราะคนมีอำนาจมีตำแหน่งและมีเงินในประเทศไทยมีความสามารถพิเศษในการ “ซุกซ่อน” ทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
เอาเฉพาะที่นักการเมืองและข้าราชการต้องทำตามที่กฎหมายบังคับให้ทำ ก็เห็นภาพของ “ช่องว่าง” ของสังคมไทยที่เป็นต้นเหตุแห่งความคุกรุ่นในสังคมไทยมาช้านาน...มิใช่เฉพาะช่วงวิวาทะระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อสีอื่นๆ ในปีสองปีที่ผ่านมาเท่านั้น
“ความเหลื่อมล้ำ” ที่ว่านี้จะแก้ได้ด้วยการที่คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นเผาบ้านเผาเมือง และตะโกนคำขวัญเรื่อง “ไพร่กับอำมาตย์” หรือเปล่า?
ผมว่าไม่ใช่ เพราะประวัติศาสตร์เมื่อไม่ช้าไม่นานนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คนกลุ่มที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชนรากหญ้านั้น เมื่อตนมีอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ใช้จังหวะและโอกาสนั้นเอง สร้างความร่ำรวยให้กับตนเองและพรรคพวกอย่างใหญ่หลวง
วิธีการเช่นว่านี้คือด้านหนึ่งก็ทำให้คนยากคนจนรู้สึกเป็น “หนี้บุญคุณ” ให้กับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เพื่อที่ว่าคนเหล่านี้จะสามารถใช้อำนาจและความนิยมชมชอบนั้น “ทำมาหากิน” ในระดับบนอย่างคึกคัก
“ความเหลื่อมล้ำ” ในยุคประชานิยมนั้นยิ่งจะสูงกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะเงินภาษีที่อ้างว่าส่งไปช่วยเหลือคนรากหญ้านั้น เป็นแค่เศษดินเศษหญ้าของเงินที่พวกนักการเมืองทำมาหาได้ผ่านช่องทางคอร์รัปชันอย่างมหาศาล
ไปๆ มาๆ ความรวยก็ “กระจุก” อยู่กับผู้มีอำนาจทางการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มเล็กๆ ขณะที่ความยากจนยัง “กระจาย” ตัวกับคนหมู่มาก ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
“ช่องว่าง” ที่ว่านี้จะแก้ไขได้ด้วยการใช้ความรุนแรง โค่นล้มสถาบันบางสถาบันหรือตั้งความหวังให้กับใครคนใดคนหนึ่งที่จะเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” มาจากข้างนอกหรือ?
ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีมาร์กซ์ ลัทธิคอมมิวนิสต์รูปแบบของสหภาพโซเวียตที่ใช้วาทกรรม “ชนชั้นกรรมาชีพ” หรือ “เผด็จการมวลชน” ของเหมาเจ๋อตุง ที่อ้างว่าจะสร้าง “สังคมไร้ชนชั้น” และทำลายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้หมดสิ้น ล้วนแล้วแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า...
และท้ายที่สุด การสร้าง “ลัทธิตัวบุคคล” ไม่ว่าจะเป็น สตาลิน ฮิตเลอร์ หรือเหมาเจ๋อตุง ซึ่งลงท้ายก็กลายเป็น “อภิมหาอำมาตย์” ที่หมกมุ่นอยู่กับการรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตนทั้งสิ้น
ทางออกของไทยในการที่จะแก้ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ” อย่างที่หลายประเทศได้ทำสำเร็จอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง คือการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
อันหมายถึงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างวินัยภายในประเทศที่ตอกย้ำความสำคัญของการศึกษา ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้ซึ้งถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนอย่างเป็นรูปธรรม
ระบบภาษีที่เป็นธรรม การเปิดเผยข้อมูลของความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างต่อเนื่อง และการทำให้ระบบการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมคือหัวใจสำคัญของการปิดช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมของสังคมนี้
คนไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างระบบที่เป็นธรรม และแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำให้ได้
เพราะใครก็ตามที่อ้างว่าเขาจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันนั้น เริ่มต้นเขาก็รวยกว่าเราไม่รู้กี่พันเท่าแล้ว
ให้เขายอมสละทรัพย์สินที่รวมกันมีมากกว่าคนไทยค่อนประเทศ และทำตามกฎหมายบ้านเมืองให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนดีไหม แล้วจึงฟังว่าเขาจะขออำนาจมาปกครองเราอีกแล้ว?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น